อลังการ! เปิด “บ้านชูชัย” ราคาทะลุ 200 ล้าน ปราสาทสุดหรูยังอาย

อลังการ! เปิด “บ้านชูชัย” ราคาทะลุ 200 ล้าน ปราสาทสุดหรูยังอาย

เปิด “ บ้าน ชูชัย” ราคาทะลุ 200 ล้าน

ต้องบอกว่าอะไรที่ “ไม่หรูหรา เวอร์วัง แตกต่าง อลังการ พิถีพิถัน” นั่นย่อมไม่ใช่ยี่ห้อ “ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ” CEO เจมส์พีชบายชูชัย และโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา โดยเฉพาะ บ้าน บนพื้นที่ 500 ตารางวามูลค่ากว่า 200 ล้านบาทหลังนี้ หรือถ้าให้เหมาะจะเรียกว่าคฤหาสน์ย่านเรียบทางด่วนรามอินทรา ที่เจ้าของอย่างคุณชูชัยยังออกปากชมบ้านตัวเองว่าสวยเลอค่าทุกครั้งที่กลับมาเห็นหลังเดินทางจากไปนานๆ

Sanook! Home จึงถือโอกาสเปิดประตูขอเยี่ยมชมบ้านแบบทุกซอกทุกมุม เห็นแล้วต้องบอกเลยว่าแอบเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปราสาทในเทพนิยาย

บรรยากาศความร่มรื่นของสวนรอบตัวบ้าน

จากสลัมสู่บ้านร้อยล้าน เป็นที่รู้กันดีว่าคุณชูชัยไม่ใช่เศรษฐีค้าเพชรที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แต่เขามุ่งมั่น ขยันทำงานและเป็นคนเก่งจึงทำให้มีทุกอย่างที่ต้องการเช่นทุกวันนี้ เช่นเดียวกับไอเดียเรื่อง “บ้าน” ของเขาก็เกิดจากความต้องการให้บ้านเป็นศูนย์รวมของคนในครอบครัว และการทำเพื่อแม่ ผู้หญิงคนเดียวที่เขารักสุดชีวิต

“พี่อยู่มาตั้งแต่บ้านเหมือนสลัม ตึกแถว คอนโด ทาวน์เฮาส์ จนมาซื้อที่เพื่อปลูกบ้านหลังนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนซื้อก็แค่อยากช่วยเพื่อนที่กำลังร้อนเงิน และอยากสร้างบ้านหลังนี้ให้เป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัว ให้แม่ได้อยู่ในที่ๆ ดีกว่าแต่ก่อน และเราก็อยากสร้างบ้านให้มีต้นไม้ สระว่ายน้ำ ใกล้ชิดธรรมชาติ ตอนนั้นซื้อมาราคาที่ดินประมาณ 5 ล้าน แต่ราคาตอนนี้น่าจะตารางวาละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท”

“บ้าน” ของฉัน ฉันต้องแฮปปี้ แม้จะไม่ได้เรียนจบด้านการออกแบบ แต่คุณชูชัยมีภาพในหัวว่าตัวเองต้องการบ้านแบบไหน ซึ่งเป็นเหตุให้โต้แย้งกับไอเดียของสถาปนิกผู้ออกแบบ จนสุดท้ายต้องลงมือออกแบบและ ตกแต่งบ้าน ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่เขาก็ไม่แคร์เพราะเชื่อว่าบ้านคือที่ๆ เขาอยู่เอง สถาปนิกไม่ได้เป็นคนอยู่

“พี่เป็นคนที่ต้องเอาตัวตนของพี่ใส่เข้าไปในบ้านเพราะเราอยู่อาศัย สถาปนิกมาออกแบบมันก็จะได้บ้านที่เขาออกแบบแต่เราเป็นคนอยู่ วิธีที่ใช้คือซื้อหนังสือตกแต่งบ้านตามร้านหนังสือมา 100 กว่าเล่ม ภาพไหนชอบ ภาพไหนรัก พื้นแบบไหนที่เราชอบตัดออกมาเหมือนแพตเทิร์นเสื้อ ปกแบบนี้ กระเป๋าแบบนี้ เหมือนออกแบบเพชรนี่แหละ ประตูแบบนี้ ล็อบบี้ต้องได้แบบนี้ ระหว่างเขียนเราก็ปรับ จนสถาปนิกล่าถอยไปเอง กลายเป็นพี่ตกแต่งเองหมดเลย”

ข้างนอกไม่ใหญ่ แต่ข้างใน 20 เซ็กชั่น ถ้ามองแค่ตัวบ้านจากด้านนอกจะคิดไม่ถึงว่าภายในบ้านจะแตกต่างจากด้านนอกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากตัวบ้านด้านนอกนั้นเรียบง่าย แถมยังถูกต้นไม้เล็กใหญ่ขึ้นปกคลุม แต่เมื่อเปิดประตูบานแรกเข้าไปกลับรู้สึก เหมือนทะลุไปสู่อีกบรรยากาศที่แตกต่าง

ห้องโคลัมบัส (Columbus)

ห้องต่างๆ ภายในบ้านของคุณชูชัยมีชื่อเรียกแตกต่างกันเพื่อความสะดวกในการกำหนดและใช้งานเริ่มจากห้องรับแขกด้านหน้าคือห้องโคลัมบัส (Columbus) ตกแต่งสไตล์สเปน ใช้สำหรับต้อนรับแขกเบื้องต้นก่อนที่จะผ่านการกลั่นกรองให้เข้ามาด้านใน ห้องถัดมาเป็นห้องรับแขกโซนตรงกลางชื่อห้องเวนีเซีย (Venezia) ใช้ต้อนรับแขกหรือผู้มาเยือนแบบเป็นกันเองสบายๆ

ห้องเวนีเซีย (Venezia)

ห้องดินเนอร์ 6 ที่นั่งหรือเลอบิตี้เวซาย ( Lerbity Versailles)

ถัดจากห้องรับแขกส่วนกลางเป็นห้องดินเนอร์ 6 ที่นั่งหรือเลอบิตี้เวซาย ( Lerbity Versailles) ตกแต่งในสไตล์ฝรั่งเศส โดดเด่นด้วยโทนสีทอง เหมาะสำหรับนั่งจิบชาหรือช่วงเวลา Tea Time ส่วนห้องดินเนอร์จำนวน 12 ที่นั่งหรือห้องเออชู (Ur Chu) นิยมใช้จัดเลี้ยงแบบซิทดาวน์ดินเนอร์ หรือจะเปลี่ยนเป็นห้องประชุมงานก็ได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีห้องโมกุล (Mughal) ห้องรับแขกสุดอลังการ ส่วน ห้องนอน ของคุณชูชัยมีชื่อว่านิวยอร์ค นิวยอร์คกี้ (Newyork Newyorky) ห้องดูทีวีจะเรียกว่า (Universal) ห้องเสื้อผ้าหรือห้องแต่งตัวเรียกว่าชูกูตูร์ (Chu Couture) ส่วนโต๊ะทานข้าวเช้ามีอีกชื่อหนึ่งว่าเอวิต้าปาร์ค (Avita park) และห้องสุดท้ายคือห้องฟิตเนสที่ถูกเรียกว่า Hercules

ห้องดินเนอร์จำนวน 12 ที่นั่งหรือห้องเออชู (Ur Chu)

“ที่มีห้องมากขนาดนี้เพราะพี่เป็นคนหลายอารมณ์ และจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็กฝังใจว่าถ้าโตขึ้นมาเราอยากจะมีห้องแบบนี้ ให้มีบรรยากาศของบาหลี เชียงใหม่ ยุโรป มีความเป็นอินเดีย มีความเป็นจีน แล้วเราสามารถจัดงานต้อนรับแขกที่เราจะเชิญมาได้ มันต้องแตกต่าง ไม่ใช่ออกมาเป็นแบบเดียว เราต้องทำชีวิตให้มีชีวิตชีวา”

ของเก่าบอกเล่าความเป็น “ตำนาน” เอกลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณชูชัยได้ชัดเจนที่สุดคือความโปรดปรานของเก่าโดยเฉพาะของตกแต่งบ้านเกือบทุกชิ้นเขาเลือกใช้ของเก่าทั้งหมด ทั้งนี้เพราะต้องการให้บ้านของเขาเป็นสัญลักษณ์บอกเล่าตำนานของตนเอง

“พี่ไม่ชอบอะไรที่อยู่ในภาพลักษณ์เดียว ชอบความแปลกใหม่ แต่ก็ชอบอะไรย้อนยุค เพราะรู้สึกว่ามันคลาสสิก ถ้าเราตกแต่งแนวโมเดิร์นเดี๋ยว 5 ปีก็ต้องเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ มันก็เหมือนเสียเงินไปโดยใช่เหตุ แต่ถ้าเราตกแต่งแนวคลาสสิก ยิ่งอยู่ยิ่งแพง ยิ่งหลงใหล เราซื้อช่วงเวลาเหล่านั้นกลับมาไมได้เลย และนั่นคือตัวตนของพี่ พี่ชอบอะไรที่เป็นของเก่า พี่ไม่ชอบของใหม่เลย ใหม่เกินไปมันดูเป็นเหล็กเบื่อง่าย มันไม่คลาสสิก และพี่ก็รู้สึกว่าบ้านหลังนี้อีกหน่อยมันจะเป็นตัวตนและตำนานของเรา”

อยู่ในห้องนอนแบบไม่ไปไหนเลยติดต่อกัน 5 วัน เมื่อถามถึงห้องสุดโปรดของคุณชูชัย เขาตอบแบบไม่ลังเลเลยว่าเป็นห้องนอนหรือ (Newyork  Newyorky) ของตัวเอง ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 100 ตารางวา ดัดแปลงมาจากความเคยชินที่ตนเองเคยอาศัยอยู่ใน คอนโดมิเนียม ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันขนาดที่ว่าเขาเคยอยู่ติดห้องแบบไม่ออกไปไหนเลยเป็นเวลามากถึง 5 วัน

ห้องนอนหรือ (Newyork  Newyorky)

“ในนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเพนท์เฮาส์ มีส่วนที่เป็นรีเซฟชั่น เราจะอยู่ห้องนั้นได้โดยไม่ต้องลงมาข้างล่างเลย จะกินข้าว ทำสปา ดูทีวี ซาวน่า เพราะเราเคยอยู่คอนโดมาก่อน เลยคิดว่าน่าจะทำห้องนอนแบบนั้น”

โซนนั่งเล่นภายในห้องนอน

อ่างจากุซชี่ภายในห้องนอนอีกเช่นเดียวกัน

ถ้าทุกคนมีโอกาสเข้าไปในบ้านของคุณชูชัยจะรับรู้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์โดยเฉพาะกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่คุณชูชัยชื่นชอบทำให้บ้านมีกลิ่นนี้ติดอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงเสียงเพลงสไตล์คลาสสิกไม่ว่าจะเดินไปตรงส่วนไหนของบ้านจะรู้สึกรื่นรมย์

สำหรับคุณชูชัยบ้านคือหนึ่งใน 4 ปัจจัยหลังที่เขานับเป็นอันดับ 1 เพราะถ้าบ้านไม่ดี บ้านไม่ถูกสุขลักษณะเหมาะสมอีก 3 ปัจจัยก็จะไม่เกิดขึ้น ความสำเร็จของคุณชูชัยในวันนี้ ส่วนหนึ่งจึงน่าจะมาจากบ้านหลังนี้นั่นเอง

Comments

Post Comments