10 ค่าใช้จ่ายงอก เมื่อคิดจะ “ซื้อบ้าน”
บางคนยังเข้าใจไม่ถูกต้องหนักในเรื่องการซื้อ บ้าน หรือ คอนโดมิเนียม เนื่องจากพอเห็นราคาบ้านหรือคอนโดเป็นตัวเลขที่ตัวเองพอจะมีเงิน ก็คิดว่าจะเทหน้าตักทั้งหมดเพื่อให้ได้ครอบครอง “ บ้านใหม่ หรือ คอนโดมิเนียม” นั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วราคาบ้านที่เห็นยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายที่จะตามมาอีกเพียบ ดังนั้นก่อนคิดจะซื้อที่อยู่อาศัยต้องคิดให้รอบคอบ และควรมีเงินเผื่อไว้อีกจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว ว่าแต่ค่าใช้จ่ายที่งอกมาจากราคาบ้านหรือคอนโดที่แท้จริงมีอะไรบ้าง Sanook!Home สรุปมาให้ทราบกันสั้น ๆ ดังต่อไปนี้ 1.เงินมัดจำ เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ต้องการ ซื้อบ้าน จ่ายไว้กับเจ้าของบ้าน หรือนิติบุคคลคอนโดมิเนียมเพื่อยืนยันว่าตนเองต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมแห่งนี้อย่างแน่นอน ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่าเงินจอง สัดส่วนที่ผู้ต้องการซื้อบ้านจ่ายเพื่อจองไว้ก็มีมูลค่าเป็นหลักหมื่น ในส่วนค่าใช้จ่ายตรงนี้ผู้ซื้อต้องระมัดระวังเวลาทำสัญญา เนื่องจากบางครั้งจ่ายเงินมัดจำหรือเงินจองไปแล้ว แต่อาจมีเหตุให้ไม่ได้บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่เราต้องการ ซึ่งผู้ซื้อต้องได้รับเงินมัดจำคืนทั้งหมด 2.ค่าใช้จ่ายทำสัญญา ซึ่งหลังจากวางเงินมัดจำไปแล้วประมาณ 1-2 อาทิตย์ผู้ซื้อกับผู้ขายอาจมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายร่วมกัน โดยค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งผู้ซื้อควรเตรียมเงินไว้เป็นหลักแสน สิ่งที่ผู้ซื้อต้องพิจารณาประกอบด้วยคือระหว่างช่วงรอทำสัญญาจะซื้อจะขายควรตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่จะติดตามเรามาได้ในภายหลัง 3.เงินดาวน์บ้าน เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะต้องผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ หลังจากการทำสัญญาซื้อขายแล้ว ซึ่งจำนวนค่าใช้จ่ายก็เป็นไปตามที่โครงการนั้นๆ กำหนด สำหรับคอนโดมิเนียมมักจะเริ่มดาวน์ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาจริง ส่วนบ้านนั้นอาจจะลงมาที่ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาจริง 4.ค่าประเมินราคา เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายต่อครั้ง และจ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ให้กับธนาคารที่เรายื่นกู้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อการประเมินหนึ่งครั้ง ยิ่งยื่นกู้หลายธนาคารก็ต้องจ่ายมาก ค่าประเมินที่ได้จ่ายไปแล้ว ถ้ากรณีที่กู้ไม่ผ่านหรือไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ก็ไม่มีการคืนเงิน 5.ค่าจดจำนอง ค่าจดจำนอง (กรณีจำนองกับสถาบันการเงิน) = 1% ของมูลค่าที่จำนอง (จำนวนที่กู้ทั้งหมด) 6.ค่าธรรมเนียมการโอน จ่ายเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ อัตราปกติคือ 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน ถ้าเป็นการโอนที่มีคนอำนวยความสะดวกให้เช่นการโอนบ้านแล้วติดจำนองแบงค์ แบงค์จะอำนวยความสะดวกเคลียร์หน้าเสื่อให้ ค่าโอนจึงมักคิดจากราคาประเมิน แต่ถ้าโอนกันเอง จะโดนเจ้าหน้าที่ถามราคาซื้อขาย ถ้าตอบแพงราคาประเมินก็จะโดนค่าธรรมเนียมจากราคาซื้อขาย ถ้าตอบถูกกว่าราคาประเมินก็จะได้ราคาประเมิน 7. เงินกองทุนส่วนกลาง กรณีคอนโดมิเนียม มีค่าใช้จ่าย 2 ประเภท คือ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนคิดตามขนาดพื้นที่บ้านหรือห้องชุด โดยจะเก็บล่วงหน้า 1 ปี ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ และ เงินกองทุนส่วนกลาง โดยจะชำระครั้งเดียว ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งจำนวนที่เรียกเก็บอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามที่นิติบุคคลกำหนด 8.ค่าประกันอัคคีภัย โดยปกติถ้าซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมโดยการกู้ยืมจะต้องทำประกันอัคคีภัยคู่มาด้วยเสมอ สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันนั้นจะจ่ายพร้อมเงินผ่อนชำระงวดแรก และเก็บทุกๆ 3 ปี อัตราเบี้ยประกันมักจะถูกกำหนดไว้โดยกรมการประกันภัย แต่อาจได้รับส่วนลดจากธนาคารที่กู้ยืม 9.ค่าประกันมิเตอร์ เป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งมิเตอร์น้ำและไฟ ที่ทางโครงการจะจ่ายให้ล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บภายหลังตามอัตราที่ทางราชการกำหนด 10.ค่าประกันภัยอาคาร สำหรับผู้ที่ซื้อคอนโดอยู่ ผู้ซื้อต้องร่วมรับผิดชอบค่าประกันนี้ด้วย โดยคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่ห้อง ภาพจาก www.istockphotoom
Comments
Post Comments