ข้อคิดในการวางแผนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อบ้าน

ข้อคิดในการวางแผนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อบ้าน

สำหรับหลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของ บ้าน หรือคอนโดสักหลัง แต่เนื่องจากบ้านและคอนโดในปัจจุบันถือเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง ดังนั้นก่อนที่จะ ซื้อบ้าน หรือคอนโดฯ ผู้ซื้อจึงต้องมีการหาข้อมูล และตรวจสอบรายละเอียด และทำความเข้าใจกับกฎหมายทางด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เข้าใจ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจนำไปสู่การเสียเงิน เสียเวลาในภายหลัง ต่อไปนี้เป็นข้อคิดในการวางแผนก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้าน, คอนโดฯ, ทาวน์เฮาส์ , โฮมออฟฟิศ เป็นต้น

1.สำรวจความต้องการของตนเอง ในการเลือกซื้ออสังหาฯ ผู้ซื้อจะต้องกำหนดความต้องการของตนเองว่ามีบ้านในฝันแบบไหน เช่น บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ และ คอนโดมิเนียม ซึ่งในแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการ ตกแต่งบ้าน ราคา รูปแบบ และเนื้อที่ใช้สอย

2. การตั้งงบประมาณ-ซื้อตามกำลังทรัพย์ การเลือกบ้านที่เหมาะสมควรเป็นไปตามกำลังความสามารถในการผ่อนชำระ ไม่ควรซื้อบ้านราคาสูงเกินกำลัง เพราะแทนที่จะมีชีวิตสุขสบายกับบ้านหลังใหม่ สามารถแบกรับภาระหนี้ในการผ่อนชำระต่อไปในอนาคตอีกนับสิบๆ ปี เพราะปกติเมื่อเราทำงานได้ตามเกณฑ์ทั่วไปที่ธนาคารกำหนด คือทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2  ปี ก็สามารถกู้ซื้อบ้านได้แล้ว หากซื้อบ้านที่มีราคาสูงเกินความสามารถก็จะกลายเป็นทุกข์เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาผ่อนชำระค่าบ้าน จนไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้น โดยทั่วไป ค่าผ่อนบ้านในอัตราที่เหมาะสม คือ 25% ของรายได้ และมากสุด ไม่ควรเกิน 35% เพราะจะทำให้ภาระหนี้ตึงมือ จนทำให้บ้านหลุดมือไปได้

3.การพิจารณาทำเลที่ตั้งโครงการ หลังจากที่ผู้ซื้อประเมินกำลังเงินของตัวเองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า รายได้ของครอบครัวเหมาะสมที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในประเภทไหนที่จะกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ และสามารถผ่อนส่งได้โดยไม่เดือดร้อน สิ่งแรกที่ผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติคือ การหาข้อมูลเบื้องต้นของบ้านที่ต้องการซื้อ โดยยึดเอาทำเลที่ตั้งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกที่สุด มาเป็นข้อพิจารณาอันดับแรกได้แก่ การเดินทางไปสถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของสมาชิกในครอบครัว ระบบโครงข่ายคมนาคมที่มีระบบขนส่งรองรับ ทำให้การเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจประจำวันสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านจะพิจารณาจากความเหมาะสมกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนในครอบครัวเป็นหลัก

4.เลือกโครงการและราคาที่เหมาะสม เมื่อผู้ซื้อได้ทำเลที่ต้องการแล้ว ในแต่ละทำเลจะมีโครงการที่ให้ผู้ซื้อเลือกอย่างมากมายทั้งโครงการขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก สิ่งที่จะต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไป คือการพิจารณาเลือกโครงการและราคาที่เหมาะสม สำหรับโครงการที่ดีนั้นควรจะมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ครบถ้วน เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายการจัดสรรที่ดินกำหนดหรือไม่ สิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ เช่น สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ หรือสปอร์ต คลับ มีตรงตามความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่ ในบริเวณใกล้เคียงโครงการมีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือศูนย์การค้าหรือไม่ รวมถึง สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโครงการ เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวหรือไม่

ซื้อบ้านไม่จำเป็นต้อง “ใหม่” มือหนึ่งเสมอไป: เพราะการซื้อบ้านมือสอง ผู้ซื้อมีโอกาสต่อรองราคาได้มากกว่าบ้านมือหนึ่งและอาจได้บ้านดีราคาถูกตามไปด้วย ขณะที่เหตุการณ์แบบนี้แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในโครงการบ้านใหม่ ดังนั้น บ้านมือสองอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็ได้ โดยเฉพาะในบางทำเลบ้านใหม่ๆ หายาก หรือแทบไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประกรหนึ่ง คือ บริษัทหรือเจ้าของโครงการมีความน่าเชื่อถือมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการ ที่อยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากประวัติชื่อเสียงและผลงานในอดีต เพื่อเป็นเครื่องรับประกันในขั้นต้นว่า ผู้ซื้อจะได้บ้านที่มีมาตรฐานทั้งด้านความมั่นคงแข็งแรง และก่อสร้างบ้านให้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันอย่างตรงเวลา ในกรณีนี้ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และมีความเป็นมืออาชีพ จะได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลงานในการก่อสร้างเลย

5.การวางมัดจำ และทำสัญญาซื้อขาย ก่อนทำสัญญาจะซื้อ หรือสัญญาวางมัดจำนั้น หากเป็นการซื้อบ้านพร้อมที่ดินผู้ซื้อควรตรวจสอบสำเนาโฉนดทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมถึงตรวจสอบทะเบียนบ้านเพื่อยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของที่ดินเดิม แต่ในกรณีที่เป็นอาคารชุด หรือห้องชุด อาจต้องดูสัญญาจะซื้อห้องชุด โดยตัวอย่างเอกสารสัญญาเหล่านี้สามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ต ดังเช่น ตัวอย่างสัญญาในเว็บไซต์ สำนักกฎหมายสวัสดิธรรม ทั้งนี้ เรื่องการวางเงินมัดจำ ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยเงื่อนไขต่าง ๆ จะต้องมีระบุไว้ในเอกสารสัญญาอย่างชัดเจน

6.การติดต่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน คนส่วนใหญ่นิยมกู้เงินมาซื้อบ้านแต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมซื้อด้วยเงินของตัวเอง อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นคือ ไม่อยากเสียดอกเบี้ย ในความเป็นจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเป็นอัตราที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับเงินกู้ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านยังมีโอกาสได้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีกซึ่งในแง่การลงทุน ยิ่งกู้ได้มากยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึง เราไม่ต้องใช้เงินตัวเองในการลงทุน เงินก้อนที่จะจ่ายสดไปกับการซื้อบ้าน สู้นำไปลงทุนเพิ่มพูนมูลค่าน่าจะดีกว่า ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละคน

นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้าน, คอนโดฯ, ทาวน์เฮาส์, โฮมออฟฟิศ เท่านั้น ยังมีข้อควรคิดพิจารณาอีกมากมาย เช่น สภาพแวดล้อมของบ้าน, การจัดวางผังของหมู่บ้านจัดสรร, ความปลอดภัย, ระบบสาธารณูปโภค, ความมั่นคงและความเชื่อถือของเจ้าของโครงการ เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะซื้อบ้านควรทำความเข้าใจกับรายละเอียดต่างๆ ให้มากก่อน เพื่อจะได้บ้านที่เราฝัน

Comments

Post Comments